“สุขนาฎกรรม” ของการให้

เคยได้ยินคำว่ามือของผู้ให้อยู่สูงกว่าผู้รับเสมอมั้ยครับ …

เห็นด้วยกับคำๆ นี้มั้ย … หากมองเพียงผิวเผิน คำนี้เหมือนจะดี เพราะดูเป็นการส่งเสริมให้เกิดการให้ แต่อันที่จริง “การให้” แบบนี้แหละที่เป็นรากฐานของปัญหาหนึ่งที่สำคัญในสังคมไทย

… เพราะการให้แบบนี้ ไม่ใช่ “การให้” อย่างแท้จริง ทว่าเป็นการให้เพื่อหวังผลเพื่อตอบสนองต่อการขยายอัตตาของตนว่า “ฉันเป็นคนที่สูงส่งกว่า … มีมากกว่า … มีน้ำใจมากกว่า … ยิ่งใหญ่กว่า … ” เอาจริงๆ ผมว่า “การให้” ด้วยทัศนคติแบบนี้ จริงๆ แล้วเป็นการซื้อ-แสดง สถานะทางสังคมมากกว่า “การให้” อย่างแท้จริง

.

วันนี้ … ผมมีเรื่องของเด็กน้อยคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังครับ … เขาชื่อ … Micah Slentz

ตอนนี้เขาเป็นเด็กอายุ 9 ขวบครับ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Play Well Africa เป็นโครงการที่ส่งมอบตัวต่อ Lego ให้เด็กๆ ชาวแอฟริกันได้เล่นนอกจากความเพลิดเพลินแล้ว ตัวต่อ Lego ยังช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิด การออกแบบ การวางแผน และเป็นพื้นที่อิสระสำหรับการทดลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย

เรื่องทั้งหมดมันเริ่มตั้งแต่ตอนน้อง Micah อายุ 6 ขวบ เขาเป็นคนที่ชอบเล่น Lego มาก มีวันนึงที่เขาขอตัวต่อ Lego ชุดใหม่จากคุณพ่อแล้วคุณพ่ออธิบายว่า “เธอมีของเล่นเยอะมากแล้วแต่เด็กทั่วโลกจำนวนมากไม่ได้มีแบบเธอนะ เช่นเด็กที่แอฟริกา” คำเล็กๆ คำนี้ได้จุดประกายให้น้อง Micah อยากมอบของเล่นให้เด็กแอฟริกา

จากวันนั้นเขาก็เริ่มสะสม Lego จากทั้งของตัวเองและการรับบริจาค จน 2 ปีผ่านไป เขาสะสม Lego ได้เป็นน้ำหนักหลายสิบกิโล เขาจึงส่งมอบให้โรงเรียนในประเทศอูกันดา หนึ่งปีต่อมาเขาก็สะสมเงินทุนที่ได้รับจากการระดมทุนพร้อมเลโก้เซ็ตใหม่อีกหลายสิบกิโลเดินทางไปที่แอฟริกาด้วยตนเอง

ที่แอฟริกาหนูน้อย Micah ได้ค้นพบว่า Lego ไม่ได้เป็นเพียงของเล่น แต่เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติให้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ดี เขาได้มอบ Lego ให้เด็กๆ หลายพันคนซึ่งสำหรับเด็กบางคนสิ่งนี้เป็นของเล่นเพียงชิ้นเดียวของพวกเขา …

สิ่งที่ Micah มอบให้เด็กๆ ชาวแอฟริกัน ไม่ใช่เพียงการมอบของเล่นให้ แต่เป็นการมอบโอกาสให้เด็กๆ ขาวแอฟริกันได้มีโอกาส”เป็นเด็ก”อย่างที่พวกเขาควรจะได้เป็น

แน่นอนว่าโครงการเล็กๆ โครงการนี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนอาหารและของเล่นของชาวแฟริกาทั้งหมดได้ แต่มันช่วยทำให้เราได้มองเห็นและนำไปสู่การตั้งคำถามและพยายามหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนในทวีปแอฟริกาอย่างยั่งยืนต่อไป

.

การวิ่งของพี่ตูนก็เช่นกันครับ สิ่งหนึ่งที่น่ายกย่องมากๆ คือพี่ตูนพูดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่อยากให้มองคนที่ทำอะไรยิ่งใหญ่กว่าเขาซึ่งทำมานานแล้วคือบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละมาแล้วนานหลายสิบปีก่อนที่ตัวเขาจะออกวิ่งเสียอีก

พูดกันตามตรง โรงพยาบาลในประเทศมีหลายร้อยแห่งแต่ละแห่งล้วนมีความขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ อย่าให้การวิ่งของพี่ตูนแก้ปัญหาได้เพียง 11 โรงพยาบาลครับ การวิ่งของเขากำลังสะท้อนและชวนเราตั้งคำถามเพื่อต้องการแก้ไขความขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งประเทศอยู่

แน่นอนว่าท้ายที่สุดการบริจาคไม่ใช่หนทางการแก้ปัญหาเพียงหนทางเดียว ถ้าพวกเราไม่อยากให้การวิ่งของพี่ตูนแก้ปัญหาได้เพียง 11 โรงพยาบาล เราคงต้องมาช่วยกันหาหนทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างยั่งยืนแล้วช่วยกันลงมือทำ อย่าหยุดที่กด sms ส่งเงินไป 10 บาท 100 บาทแล้วคิดว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้วเพราะมันไม่จริงครับ …

… เช่นเดียวกับโครงการ Playwell Africa โครงการก้าวคนละก้าว ให้อะไรมากกว่าเครื่องมือทางการแพทย์ แต่กำลังให้ความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ในการเข้าถึงการรักษาที่มนุษย์พึงได้รับ โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ในการจุดประกายให้คนในสังคมเห็นปัญหาความขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ อย่าปล่อยให้ “ประกาย” นี้จบลงไปพร้อมๆ กับโครงการแต่ปัญหากลับยังดำรงอยู่ต่อเลย

.

… เพราะ… การให้ที่แท้จริงที่สำคัญกว่าการให้วัตถุสิ่งของ คือการมอบมิตรภาพและความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ให้แก่กันครับ … เมื่อมองเห็นผู้รับเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันแล้วก็ไม่ต้องวางตัวว่าสูงกว่า มีมากกว่า รวยกว่า ฯลฯ แต่โฟกัสไปว่าเขามีปัญหาอะไร และเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหานั้นได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง … น่าจะเป็นการให้ที่สวยงามมากกว่าการให้เพื่อหวังผลตอบแทนนะครับ

.

.

ผู้เขียน : Pui Pastel

ที่มา : playwellafrica.org

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn