จากบทความครั้งก่อน ๆ คุณผู้อ่านคงทราบถึงหลักการของการเกิดภาพเคลื่อนไหวกันแล้ว วันนี้เราจะมารู้จักกับ “Stop Motion” กัน “Stop หยุด Motion การเคลื่อนไหว” เอ๊ะเป็นเทคนิคภาพนิ่ง? ถูกต้องนะครับ เป็นหนึ่งในเทคนิคในการทำภาพยนตร์โดยภาพนิ่งทีละเฟรมนั่นเอง ก่อนที่เราจะมาลงรายละเอียด
เรามาดูกันก่อนว่า “Stop Motion” มีที่มาที่ไปอย่างไร?
การถ่าย Stop Motion นั้นถูกใช้กันมาตั้งแต่ ปี 1910 ในการถ่ายทำภาพยนตร์ อนิเมชั่น เพราะในยุคนั้นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกยังไม่เข้ามามีบทบาทนักในการถ่ายทำภาพยนตร์
การถ่ายทำประเภท Stop Motion เป็นการที่ผู้ถ่ายทำนั้นต้องสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ของภาพขึ้น และค่อยขยับ ส่วนประกอบต่าง ๆ ทีละนิดเพื่อใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรม ๆ เทคนิคนี้นิยมใช้กันมากในยุคแรก ๆ ของภาพยนตร์
การถ่าย Stop Motion มีอยู่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น
เเบบ Clay Animation คือการถ่ายทำโดยการปั้นดินเหนียวหรือขี้ผึ้ง เป็นรูปร่างขึ้นมาและมีโครงลวดติดตั้งไว้เพื่อดัดเปลี่ยนท่าทางของตัวแบบ
ต่อมาคือ แบบ Cutout Animation เป็นการถ่ายทำโดยใช้วัสดุ 2 มิติ ตัดเป็นรูปต่าง ๆ นำมาขยับและถ่ายทีละเฟรมมาเรียงกัน
ในปี 1980 เริ่มมีอิทธิพลของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามา จึงได้เกิด Graphic Animation เป็นเทคนิคที่ในปัจจุบันก็ยังนิยมใช้กันอยู่ เป็นการถ่ายภาพนิ่งทีละภาพทีละเฟรม และนำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน เหมือนเทคนิค คอลลาจ หรือ ตัดแปะนั่นเอง
สุดท้ายคือ Model Animation เป็นการสร้างโมเดลตัวละครขึ้นมาขยับ แล้วซ้อนภาพเข้ากับฉากที่มีคนแสดงจริง ฉากหลังเหมือนจริง เป็นเทคนิคที่นิยมที่สุดเพราะใช้เวลาในการถ่ายทำน้อย และใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยสร้างโมเดลตัวละคร