วัยรุ่น วัยทำงาน ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวจะซื้อรถ หรือ ซื้อบ้าน อันไหนดีกว่ากัน ?

เมื่อคุณได้เงินเดือนครั้งแรก มีเงินเก็บก้อนแรก คุณทำอะไรกับมัน ? คำถามยอดฮิตซึ่งมีหลากหลายคำตอบ แต่พฤติกรรมหมู่ที่เรามักทำกันคือ ซื้อของ ซื้อเสื้อผ้า ซื้อความสนุก เช่น ดูหนัง เดินห้าง ท่องเที่ยว ทำทุกอย่างที่เราอยากจะทำ ซื้อทุกอย่างที่เราอยากจะซื้อ บ้างก็ในจำนวนเงินที่ได้มา หรือ บ้างก็มากกว่าจำนวนเงินที่ได้มา ผ่านบัตรเครดิต บัตรเงินสด ต่าง ๆ หรือ สินเชื่อบุคคล ในกรณีของการ ซื้อรถ ซื้อบ้าน เป็นต้น

พอถามแต่ละคนว่า ควร ไม่ควร ซื้ออะไร อย่างไร ก่อน หลัง โดยเฉพาะเมื่อถามถึง การซื้อรถ ซื้อบ้าน คนที่คิดว่า รู้เรื่องการเงินหน่อย ก็จะตอบว่า ซื้อบ้านก่อนดีกว่า ผมกำลังจะบอกว่า เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกเอาซะทีเดียว และความเป็นจริงนั้น วัยรุ่น วัยทำงาน ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนก็จะซื้อรถ ตามด้วยการซื้อบ้านในที่สุดเสมอ

ความเข้าใจผิดนี้ มีบ่อเกิดมาจาก ความไม่เข้าใจใน คำว่า “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์”

วันนี้เรามาทำความรู้จัก “คำ” ทั้งสองคำนี้กันครับ

ทรัพย์สิน หมายถึง รายการของวัตถุทั้งที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่างที่ถือครองได้ ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงิน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ
(1) ทรัพย์สินมีตัวตน (Tangible Assets) เช่น โรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน สินค้าบริโภคถาวร
(2) ทรัพย์สินทางการเงิน (Financial Assets) เช่น เงินตรา ธนบัตร หุ้น พันธบัตร
(3) ทรัพย์สินไม่มีตัวตน (Intangible Assets) เช่น เครื่องหมายการค้า (Trademark) ค่าความนิยม (Goodwill) ของสินค้าหรือของกิจการ ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

สินทรัพย์ ในทางบัญชี หมายถึง สิทธิ และทรัพยากรที่กิจการมีอยู่ ซึ่งเกิดจากการประกอบการสามารถแสดงค่าเป็นตัวเงินได้ และจะให้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะหมายรวมถึงรายการทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงรายจ่ายที่จ่ายไปและไม่มีสิทธิเรียกร้อง แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่กิจการยังมีอยู่ เช่น รายจ่ายรอตัดบัญชี

จากความไม่เข้าใจในความหมายของ สองคำ ที่กล่าวมา สิ่งที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้น อาจจะเป็น ความไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ของ คำเหล่านี้ กับคำว่า “หนี้สิน”

หลาย ๆ คน เข้าใจผิดว่า รถ หรือ บ้าน เป็นทรัพย์สิน หรือ สินทรัพย์ ที่ดี หรือ ที่ทำให้ก่อเกิดรายได้ แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็น “หนี้สิน” หรือ เรียกว่าเป็น ทรัพย์สิน หรือ สินทรัพย์ ที่ไม่ดี หรือ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

มันจะกลายเป็น ทรัพย์สิน หรือ สินทรัพย์ ที่ดี หรือ ที่ก่อให้เกิดรายได้ ก็ต่อเมื่อ
(1) มีการเพิ่มมูลค่าขึ้น ตามกาลเวลา เช่น รถเก่าสำหรับสะสม บ้านที่อยู่บนที่ดินใจกลางเมือง เป็นต้น
(2) สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่า ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) เช่น การปล่อยเช่า การนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น

ฉะนั้น หากคุณได้เงินเดือนก้อนแรก ๆ มา หรือเก็บเงินก้อนแรก ๆ มาสักพักแล้วตัดสินใจซื้อรถ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันหรือซื้อบ้านไว้เพียงเพื่ออยู่อาศัย คุณกำลังตกหลุม “กับดัก” วงจรการชำระหนี้ไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ หนี้สินทั่วไปที่เราเห็นได้ชัด ยังรวมถึงการใช้เงินเพื่อซื้อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นทุนที่ไม่สร้างรายได้ กำไร โดยเฉพาะ การใช้บัตรเครดิต บัตรเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่อขนาดเล็ก

ทางออก ที่อาจจะฟังดูง่าย แต่น้อยคนนักที่จะทำได้ คือ การเพิ่ม “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์” ที่เพิ่มมูลค่าตามการเวลา (Appreciative Assets) หรือ ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงกว่าต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย หรือ ค่าเสียโอกาส) เช่น การปล่อยเช่า หรือ การนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น และ ลดหนี้สินที่เกิดจากการครอบครอง “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์” ที่ลดมูลค่าตามการเวลา (Depreciative Assets) หรือ ก่อให้เกิดรายจ่าย เช่น การอยู่อาศัย หรือ การใช้จ่ายทั่วไป เป็นต้น

ในโลกปัจจุบันเราจึงเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในประเด็นที่ได้กล่าวไปจำนวนมาก เลือกที่จะ “เช่า” มากกว่า “ซื้อ” โดยมุ่งเน้นที่การสร้างเครื่องมือเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าทางการบริการในสังคมให้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ที่เคลื่อนเข้ามาถึงตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ธุรกิจเทคโนโลยี เช่น AirBnB ที่นำเอาบ้านของคนทั่วไปมาปล่อยเช่า โดยไม่มีการครอบครองที่พักอาศัยแม้แต่ที่เดียว แต่มีมูลค่ามากกว่า กลุ่มโรงแรมอันดับต้น ๆ ของโลก หรือ Uber ที่นำเอารถของคนทั่วไปมาวิ่งรับผู้โดยสาร โดยไม่มีการครอบครองพาหนะแม้แต่คันเดียว แต่มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทรถเช่าใด ๆ ในโลก เป็นต้น

โลกได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างแท้จริง แล้วคุณหละ เปลี่ยน หรือ ยัง… คุณยังจับจ่ายใช้สอย ใช้ชีวิตประจำวัน แบบเดิม ๆ หรือไม่?

ที่มา: Dr. Sun
Photo Credit: Jeremy Cliff

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn