การทำงานเป็นทีมไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราไม่รู้จักวิธีจัดการที่ดีงานก็พังเอาได้ง่าย ๆ เพราะการที่คนมารวมกลุ่มทำงานด้วยกันย่อมทำให้เกิดปัญหาเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นเราจึงควรจะมีเทคนิคมาปรับใช้เพื่อให้การทำงานร่วมกันกับคนอื่นออกมาได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด
1.กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
ในการเริ่มต้นโปรเจคทำงานเป็นทีมจะใช้เวลาพอสมควรในการประชุมตกลงเกี่ยวกับเป้าหมายของทีม ว่าทีมต้องการอะไร และใครควรมีบทบาทอย่างไรต่องานบ้าง ทิศทางและเป้าหมายของงานจะเป็นไปในรูปแบบไหน ซึ่งคุณควรจะกำหนดด้วยว่าจะมีประชุมร่วมกันบ่อยแค่ไหน และจะติดต่อสื่อสารกันอย่างไร พูดคุยกันแบ่งงานให้ลงตัว
2.มั่นใจว่าทุกคนมีส่วนร่วม
สมาชิกทุกคนในทีมต้องมีส่วนร่วมกับงาน และสร้างบรรยากาศที่สนับสนุน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะทำงานนี้ แล้วงานก็จะออกมามีประสิทธิภาพ การแบ่งหน้าที่ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะบุคลิกนิสัยที่แตกต่างกันย่อมทำให้แต่ละคนมีงานที่ถนัดต่างกันไป การทำงานเป็นทีมจึงควรที่จะสร้างสมดุลของทีมให้ได้มากที่สุด โดยทั่วไปแล้วในการประชุมหรือการระดมสมองร่วมกันนั้น เราสามารถแบ่งบทบาทหน้าที่ภายในทีมได้ 7 บทบาทนี้
- ผู้ประนีประนอม (Compromiser) เป็นคนที่สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน สร้างความกลมเกลียวให้กับลูกทีมทุกคน คนจำพวกนี้มักจะเอาใจใส่รายละเอียดของลูกทีมแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
- ผู้ส่งเสริม (Encourager) เป็นคนที่สามารถกระตุ้นลูกทีมให้มีพลังในการทำงาน อาจจะใช้อารมณ์ขันเข้าช่วยบ้าง แนะนำแนวคิด หรือแม้แต่เป็นผู้นำเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา
- ผู้ตรวจสอบและประเมินผล (Evaluator) เป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ทางเลือกเพื่อเป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจทำบางอย่าง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
- ผู้คิด (Ideas person) ผู้แนะนำวิธีการใหม่ ๆ เป็นผู้เสนอไอเดียต่าง ๆ ให้กับกลุ่ม และเป็นคนที่สามารถเสนอแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเฉียบคม
- ผู้นำ (Leader) สร้างความมั่นใจและเป็นผู้ที่ทำให้กลุ่มสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างมั่นคง ตรงตามเป้าหมาย ไม่เหลวไหล อีกทั้งยังเป็นผู้ประสานงานระหว่างสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ซึ่งเป็นทั้งผู้มอบหมายงานและคอยขับเคลื่อนให้งานออกมาประสบผลสำเร็จ
- จดบันทึก (Recorder) เป็นผู้ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น คอยจัดตารางเวลา คอยบันทึกการประชุม เพื่อให้สมาชิกคนอื่น ๆ นั้นเข้าใจว่าพวกเขามีหน้าที่อะไร
- สรุปผล (Summariser) จะคอยสรุปเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกเข้าใจสถานการณ์ หรืองานที่จะต้องทำได้ง่ายขึ้น คอยสรุปการประชุมในแต่ละครั้ง
3.หลีกเลี่ยงการทำนิสัยแย่ ๆ
คุณควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง ที่ทำให้ทีมพังลงได้ง่าย ๆ ต่ออย่างเช่นพฤติกรรมนี้
- ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ เหวี่ยง ฉุนเฉียว
- แสดงความไม่พอใจกับการตัดสินใจต่าง ๆ อยู่เสมอ
- ดูหมิ่นผู้อื่นและวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของตนโดยไม่แนะนำทางเลือกอื่น
- ทำให้คนอื่นเสียสมาธิเพราะมัวแต่เล่นสนุก
- ล้มเหลวในการมีส่วนร่วม ไม่ค่อยรับฟังผู้อื่น และมักจะพูดแทรก
- พูดมากเกินไป จนคนอื่นไม่ได้พูด
แม้ว่าความขัดแย้งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำให้เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ควรจะถกเถียงในสิ่งที่เกี่ยวกับงานจริง ๆ ถ้าคุณมีปัญหาไม่ลงรอยกับสมาชิกทีมก็ควรเก็บไปพูดกับเขาเป็นการส่วนตัวจะดีที่สุด