Social Enterprise ธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หากพูดถึงการทำธุรกิจ หลายคนคงนึกถึงการแข่งกัน และมุ่งเน้นหากำไรให้ได้มากที่สุด เพราะในโลกทุนนิยมได้เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องงัดกลยุทธ์ ต่าง ๆ ออกมาใช้แข่งขันกับผู้ประกอบการเจ้าอื่น ๆ เพื่อทำให้ตนเองได้กำไรมากที่สุด ผู้ประกอบการจึงมักถูกมองว่าเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของผู้อื่น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา แต่ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะกอบโกยเอาจากสังคมอย่างเดียว วันนี้ Ensure จะพามารู้จักกับ Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม

 

  Social Enterprise เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยใช้กลไกการบริหารจัดการ ที่ดีของภาคธุรกิจผนวกเข้ากับความรู้และนวัตกรรมสังคม สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น การนำสินค้าในชุมชนมาทำตราสินค้าหรือสร้างแบรนด์เพื่อขายสู่ตลาด และนำเงินที่ได้หลังหักต้นทุนและค่าแรงแล้วนำกลับมาพัฒนาชุมชน เป็นการสร้างงานให้กับคนในชุมชน รวมถึงการทำธุรกิจเล็ก ๆ เช่น ร้านกาแฟที่จะหัก 5 % จากกำไรเพื่อไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ
ถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างยั่งยืน Social Enterprise แตกต่างจากมูลนิธิเนื่องจากไม่ใช่การขอรับบริจาค เพราะมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ไม่ใช่ความสงสารหรือเห็นใจ  มีค่าตอบแทนและกำไรเหมือนกับธุรกิจทั่วไป นอกจากนี้ ยังแตกต่างจาก CSR ซึ่งย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่นำเอาผลกำไรเพียงบางส่วนของตนมาจัดกิจกรรมทางสังคมเท่านั้น Social Enterprise เน้นการดำเนินการและความยั่งยืนทางการเงินขององค์กร นำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมที่มากยิ่งๆ ขึ้นไป

 

 

ถึงแม้ในปัจจุบันโลกจะอยู่ในยุคทุนนิยมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน แต่มนุษย์ก็ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกการพัฒนาต้องโอบกอดทุกคนและก้าวไปด้วยกัน เหมือนกับธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นมาเพื่อพยายามโอบอุ้มมนุษย์ทุกคนให้ก้าวไปพร้อมกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้ในยุคทุนนิยมอย่างนี้

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn