ถ้าเปรียบให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเมือง ประชากรในเมืองนั้นๆ ก็คือผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มนั้นนั่นเอง โดยประชากรเหล่านี้ หลายคนต่างมีทะเบียนบ้านอยู่ในหลายเมือง ทั้ง Facebook, Instagram และ Twitter แต่บางคนก็ชอบที่จะอยู่แค่ในแพลตฟอร์มเดียว ทำให้ลักษณะของประชากรในแต่ละแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้น มักจะมีความเฉพาะอย่างชัดเจน
สำหรับ Twitter แพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง organic viral content ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เป็นแพลตฟอร์มที่หลายคนอยากจะพิชิตจนได้ติดเทรนด์ดูซักครั้ง โดยผลสำรวจผู้ใช้ทวิตเตอร์พบว่า ประชากรที่อยู่ในทวิตเตอร์ส่วนใหญ่มักจะมีอายุน้อย และมีการศึกษาที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ใช้งานในปีก่อนๆ เราจะเจาะลึกกันว่า ใครกันที่สิงอยู่ในทวิตเตอร์บ้าง
มีผู้ใช้ทวิตเตอร์กี่คนในปี 2020?
ช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ผลสำรวจของทวิตเตอร์ออกมาว่า มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอยู่เป็นประจำที่สามารถสร้างรายได้ประมาณ 166 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีที่มีได้รับการโฆษณาทั้งสิ้น เพิ่มขึ้นถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นประวัติการณ์ของทวิตเตอร์เลยทีเดียว สาเหตุก็น่าจะมาจากสถานการณ์โควิด ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ต้องการเชื่อมต่อและติดตามข่าวสารให้ใกล้ชิดมากขึ้น ในวันที่ต้องถูกจำกัดให้เว้นระยะห่างออกจากกัน
จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นมาถึง 24% ทำให้ทวิตเตอร์ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดทั่วโลกเป็นอันดับที่ 13 ถึงแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าบัญชีมากมายในทวิตเตอร์ส่วนใหญ่มักเกิดจากผู้ใช้คนเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า ‘แอคหลุม’ เนื่องจากในอเมริกา พบว่า 80% ของบัญชีทวิตเตอร์ ถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้งานจริงเพียง 10% เท่านั้น โดยบัญชีที่มีผู้ติดตามมากที่สุด ได้แก่ Barack Obama 111 ล้านคน แต่จากการวิเคราะห์ของ Brandwatch พบว่า Taylor Swift เป็นทวิตที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปี 2019
ประเทศไหนใช้ทวิตเตอร์มากที่สุด?
ประเทศที่มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์มากที่สุด คือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, ซาอุดิอาราเบีย และ บราซิล ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์เป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยมี 6,545,000 บัญชี เป็นอันดับสามของประเทศในเอเชีย เป็นรองแค่ญี่ปุ่นอันดับสอง และฟิลิปปินส์อันดับ 14
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 80% ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั่วโลกมีอายุต่ำกว่า 50% และในกลุ่มประชากรผู้ใช้งานในช่วงอายุ 25-34 ปี พบว่าเพศชายมีสัดส่วนผู้ใช้งานถึง 19% ซึ่งนับว่าสูงที่สุด แต่ในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 24 ปี พบว่าผู้ใช้งานแยกตามเพศแทบไม่ต่างกันนัก
แต่พอมาเจาะดูผู้ใช้ทวิตเตอร์แบบแยกตามเพศรายประเทศ พบว่าในประเทศไทยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ถึง 78% เป็นผู้หญิง ซึ่งต้องบอกว่าผู้หญิงไทย เล่นทวิตเตอร์มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่ฟิลิปปินส์เท่านั้น
ต้องบอกว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั่วโลก มักจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายๆกัน คือมักใช้ทวิตเตอร์เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ติดตามข่าวสารที่เน้นความฉับไว เปิดประเด็นถกเถียง และหัวข้อที่นิยมส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นการเมือง ซึ่งหากแบรนด์ไหนที่ต้องการเจาะตลาดทวิตเตอร์ แบรนด์จะต้องฟังเสียงของผู้ใช้งานว่าไปในทิศทางไหน ไม่ควรสวนกระแส ต้องรัดกุม และต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ข้อมูลมีการหมุนเวียนรวดเร็วมาก