แม้จะผ่านมาสักระยะแล้วสำหรับกรณีที่ “หมอปลา” มือปราบสัมภเวสี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนายโสธร และสื่อมวลชนยกโขยงกันไปตรวจสอบ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” พระเกจิชื่อดัง จนกลายเป็นที่วิพากษ์ของคนในโลกโซเชียลต่อกรณีนี้กันอย่างหนักหน่วง จนภายหลังเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #SAVEหลวงปู่แสงตามมา วันนี้ Ensure จึงอยากจะพาทุกคนไปดูที่มาที่ไปของเหตุการณ์ และมาร่วมกันถอดบทเรียนต่อกรณีนี้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกกับสังคมไทย
Timeline
วันที่ 11 พ.ค. 65 เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อตัวหมอปลาออกมาเเฉต่อสื่อมวลชนว่ามีพระเกจิชื่อดังมีพฤติกรรมจับหน้าอกผู้หญิง พร้อมบุกถึงกุฏิของพระเกจิรูปนั้น ซึ่งภายหลังก็เป็นที่ทราบกันว่าคือ “หลวงปู่แสง ญาณวโร”
วันที่ 12 พ.ค. 65 ปรากฏคลิปของสีกาคนหนึ่งได้ไปพบกับหลวงปู่แสง
วันที่ 12 พ.ค. 65 อดีตพระมหาไพรวัลย์ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าวพร้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด ในทำนองที่ว่า ทำไมถึงไม่มีคนห้ามผู้หญิงขึ้นไปนั่งบนที่พระนั่ง
วันที่ 12 พ.ค. 65 ลูกศิษย์เเละเเพทย์ ออกมาชี้เเจงถึงอาการอาพาธโรคสมองเสื่อมของหลวงปู่เเสงว่าท่านอาพาธจริง
วันที่ 13 พ.ค. 65 หลังจากเกิดกระแสตีกลับ ภายหลังหมอปลาจึงได้ออกมายอมรับว่าเป็นคนส่งทีมเข้าไปในกุฏิ จึงเป็นเหตุให้เกิดคลิปสีกาดังกล่าว
วันที่ 13 – 14 พ.ค. 65 ต่อมานักข่าวเเต่ละช่องที่ทำข่าวยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์ที่สร้างหลักฐานในคลิป พร้อมโดนต้นสังกัดสั่งพักงานไว้ชั่วคราว
วันที่ 13 พ.ค. 65 นักข่าวเวิร์คพอยท์ ออกมายอมรับว่าตนเองคือสีกาที่ปรากฏในคลิป ต่อมาทางช่องเวิร์คพอยท์ประกาศให้พ้นสภาพการเป็นผู้สื่อข่าว
วันที่ 16 พ.ค. 65 หนุ่มกรรชัยออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งชี้เเจงหลังมีกระเเสว่าเจ้าตัวปกป้องหมอปลา
ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่าโลกโซเซียลเขาพูดถึงกรณีนี้อย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่าในยุคปัจจุบันที่โลกโซเซียลมันไปไวมาก จึงทำให้หลาย ๆ สำนักข่าวหิวยอดไลก์มากกว่าที่จะตรวจสอบเนื้อหาข่าว จนได้เกิดคอนเทนต์ในทำนองนี้ขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาตัวหมอปลาจะมีชื่อเสียงจากการจับพระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่สำหรับกรณีต้องแยกกันว่าเรื่องอะไรควรทำไม่ควรทำ
ยิ่งโดยเฉพาะตัวสื่อมวลชนเองที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอ ซึ่งเรื่องนี้จะโทษนักข่าวภาคสนามอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้นสังกัดเองก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบ โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่ากรณีจะเกิดจากตัวนักข่าวภาคสนามเพียงเท่านั้น ต้องโทษไปถึงกองบรรณาธิการข่าวที่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
จรรยาบรรณของสื่อไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาพูดให้ดูโก้หรู แต่มันเป็นสิ่งที่สื่อพึงจะต้องกระทำดังเช่นวิชาชีพอื่น ยิ่งในสมัยนี้ที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะทั้งคนมีชื่อเสียงหรือแม้แต่บุคคลธรรมดาก็ไม่ควร