เมื่อเทรนด์การตลาดแบบ Nostalgia ในอดีตนั้นมีคุณค่าที่มากกว่าการให้คิดถึง
เพราะเรื่องในอดีตมีอะไรให้คิดถึงเสมอ การหวนนึกถึงอดีตจึงเป็นเหมือนเซฟโซนเล็ก ๆ ในใจที่ทำให้หลายคนยิ้มได้ทุกครั้งที่คิดถึง นักการตลาดที่มองเห็นเรื่องนี้ จึงเลือกที่จะหยิบเอาช่วงเวลาหนึ่ง หรือประสบการณ์ในอดีตที่มันให้ความรู้สึกผูกพันกับผู้คน อย่างยุค 90’s หรือกระแส Y2K มาผสมกับการตลาดจนเป็น Nostalgia Marketing เทรนด์การตลาดที่ทำให้อดีตกลับมาโด่งดังอีกครั้งในยุค 5G
Grammy RS Concerts
สด ๆ ร้อน ๆ กับการจับมือการของอดีต “คู่แข่ง” ที่ขอพักรบมาเป็น “คู่ค้า” ใน Grammy RS Concerts โปรเจกต์ซีรีส์คอนเสิร์ตที่จะจัดต่อเนื่อง 3 ปีเต็ม รวบรวมเอาศิลปินจากทั้ง 2 ค่าย ที่เราคิดถึงในอดีตตั้งแต่ยุค 1990 – 2000 มารวมกันในคอนเสิร์ตเดียว
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการตลาดแบบ Nostalgia Marketing ที่กล้าจะจับเอาทั้ง Grammy และ RS ที่ถือเป็นสองค่ายเพลงคู่แข่งแห่งยุค ถ้ามีโอกาสย้อนกลับไปในอดีตเราก็คงจะไม่เชื่อว่าจะได้เห็นสองค่ายนี้ร่วมมือกัน ที่สำคัญยังทำให้เห็นว่าบางครั้งการทำธุรกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย บางครั้งร่วมมือกันบ้างก็มีข้อดีเหมือนกัน
NewJeans
ขึ้นเป็นเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ขวัญใจ (คนเขียน) และใครหลาย ๆ คน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเดบิวต์กันได้ไม่ถึงปี ก็โด่งดังเป็นพลุแตก ขอเล่าสั้น ๆ ตรงนี้เผื่อหลายคนอาจจะไม่รู้จัก “NewJeans” เกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่จากฝั่งเกาหลี ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 5 คน ได้แก่ มินจี, ฮันนี, แดเนียล, แฮริน และฮเยอิน เริ่มเปิดตัวซิงเกิลแรก ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2022 ปีที่แล้ว
ตัวอย่างที่น่าสนใจของวงนี้คือการหยิบเอาบางสิ่งบางอย่าง ที่ในอดีตมันอาจเป็นสิ่งธรรมดามาปัดฝุ่นใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของ NewJeans อย่างหน้าอินเตอร์เฟสคอมพิวเตอร์ หรือบรรดาเอฟเฟกต์ตัวหนังสือเก๋ ๆ พอเอามาบวกกับภาพลักษณ์ที่ดูสดใสในบรรยากาศยุค 2000 ที่มันมีอิทธิพลต่อกลุ่มคนตั้งแต่ gen Z ไปจนคนยุคมิลเลนเนียลส์ ก็ช่วยเชื่อมให้คนเข้าถึงได้อย่างไร้รอยต่อ
City Pop
เมื่อกี้เราพาย้อนไปดูทั้งยุค 90’s และ ยุค 2000 กันมาแล้ว รอบนี้ขอพาย้อนกลับไปเก่ากว่านั้นกับ City Pop แนวเพลงญี่ปุ่นจากยุค 80’s ที่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลาที่ถือเป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ธุรกิจทั้งการผลิตและการส่งออกจำนวนมากเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้นสู่จุดสูงสุด ที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถขึ้นไปใกล้ถึงจุดเดิมนั้นได้แม้แต่ครั้งเดียว
พอเศรษฐกิจดีผู้คนก็ใช้เงินจ่ายกันเยอะขึ้น City Pop จึงเป็นการสะท้อนตัวตนของยุคที่บ้านเมืองกำลังรุ่งเรืองผ่านดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นยุค 80’s เหมือนอย่างเพลง Plastic Love ของ Mariya Takeuchi ที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้น ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้คนนึกถึงอดีตอันหอมหวาน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง