ถึงเลือกนายกฯรอบแรกจะจบลงไปแล้ว แต่โลกโซเชียลไม่จบ! ผุดสารพัดแฮชแท็กออกมากดดัน ส.ว. ทั้ง #ธุรกิจสว ที่เป็นการชวนกันไม่ให้สนับสนุนกิจการธุรกิจของ ส.ว. ที่ไม่ได้โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ลุกลามมาถึง #เมียน้อยสว ที่ต่อเนื่องกันมาจนพุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ในเมื่อกระแสโซเชียลเป็นแบบนี้ Ensure เลยจะขอชวนทุกคนมาคุยกันหน่อยว่า จำเป็นมั้ยที่แบรนด์ต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง?
ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะเห็นว่ามีน้อยแบรนด์มากที่จะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ซึ่งเหตุผลก็ไม่ยากอะไรเพราะ “แบรนด์เขากลัวเสียลูกค้า” ทั้งผู้ติดตาม ยอดขาย ภาพลักษณ์ ซึ่งการเลือกข้างแบบนี้มันก็เหมือนเป็นการผลักลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่เราไม่ได้เลือกให้ไปอยู่อีกฝั่งตรงข้ามกับแบรนด์เรา
แต่ก็ไม่ใช่กับทุกแบรนด์ที่เลือกปฏิเสธไม่แสดงจุดยืนทางการเมือง ถ้าใครยังจำกันได้กับกรณี
George Floyd ชายผิวดำที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการจับกุมของตำรวจ ที่ตอนนั้นมีกระแสการต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกาจนลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืนในครั้งนี้นั้นก็คือ Nike ที่ปล่อยแคมเปญ Don’t do it ล้อเลียนสโลแกนในตำนานของตัวเองอย่าง Just do it เพื่อแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เกินกว่าเหตุของตำรวจ
ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะ Nike ก็เคยทำแบบนี้กับกรณีของ Colin Kaepernick อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ถูก “แบน” จากการที่เขาเลือกคุกเข่าในตอนที่เปิดเพลงชาติสหรัฐอเมริกาเมื่อเริ่มเกมการแข่งขัน ซึ่งก็มี Nike นี่แหละที่ตอนนั้นแทงสวนหลายแบรนด์เลือกที่จะสนับสนุน Kaepernick ต่อ
แล้วจำเป็นมั้ยที่แบรนด์ต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง? ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงจะบอกว่า
“ไม่จำเป็น” แม้จะบอกว่าการตลาดยุคนี้จำเป็นที่แบรนด์ต้องปรับตัวเลือกสื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการแสดงจุดยืนเรื่องใด ๆ ของแบรนด์นั้นก็มี “ความเสี่ยง” ที่แบรนด์จะต้องรับไป
แต่ถ้าหากจำเป็นที่นักการตลาดจะต้องสื่อสารจุดยืนทางการเมืองหรือจุดยืนอะไรก็ตามแต่ ก็ควรจะกลับมาดูตัวเองก่อนว่า Brand Purpose หรือ วัตถุประสงค์ของแบรนด์เราคืออะไร ไม่ใช่แค่ว่าตัวเราหรือผู้บริหารเห็นยังไง เพราะต้องไม่ลืมว่าเรากำลังสื่อสารบนแบรนด์ไม่ใช่ทวีตของนายเอหรือนายบีทั่ว ๆ ไป จากนั้นค่อยมาดูว่าเราจะแสดงจุดยืนยังไง อย่างตัวอย่างของ Nike ที่ยกมา ถึงแม้มันจะดูแหกคอก แต่เชื่อเถอะว่านี่เป็นสิ่งที่เขาวางแผนมาแล้ว ว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มันกระทบกับกลุ่มลูกค้าเราแน่ Nike เลยไม่กลัวที่จะสนับสนุนการกระทำเหล่านี้ แม้มันต้องแลกมาด้วยเสียงก่นด่าจากอีกฝ่ายเขาก็ยอมแลก
ทั้งเรื่องสีผิวหรือเรื่องการเมือง ต่างก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นการที่เราจะสื่อสารอะไรเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ ความเชื่อ หรืออะไรพวกนี้ก็อยากให้คิดเยอะ ๆ เพราะทันทีที่กดเผยแพร่มันออกไป มันก็ไม่ใช่เรื่องของความคิดเห็นส่วนบุคคลด้วยเหมือนกัน สุดท้ายนี้ถ้าเป็นคุณจะเลือกสื่อสารเรื่องนี้ยังไง?