บอลไทยไปบอลโลก เชื่อว่านี้คงเป็นความฝันของแฟนกีฬาหลาย ๆ คน ที่อยากเห็นธงชาติไทยโบกสะบัดท่ามกลางการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่พอมาดูในรายละเอียดก็ไม่ใช่งานง่าย แม้จะมีข่าวการปรับโควตาให้ทีมจากทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 4 ทีมเป็น 8 ทีมแล้ว แต่สำหรับชาติอาเซียนก็ยังห่างไกลด้วยชั้นของฟุตบอล นี่ไม่นับเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นที่เป็นขาประจำฟุตบอลโลกในช่วงหลัง แม้จะเพิ่มโควตาแล้วแต่ก็ยังเป็นเรื่องยาก เลยทำให้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนมาเป็น “เจ้าภาพฟุตบอลโลก” ที่จะทำให้ชาติเจ้าภาพได้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลโลกแบบอัตโนมัติ
ถ้าใครยังจำกันได้กับ “กาตาร์” ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งก่อน (2022) พร้อมทุ่มเงินกว่า 7.8 ล้านล้านบาท เนรมิตพื้นที่ทะเลทรายให้เป็นพื้นที่การแข่งขัน แต่แน่นอนลำพังแค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็คงไม่ได้จะมีงบประมาณมหาศาลขนาดนั้น เลยมีการเสนอทางเลือกที่จะให้บรรดาชาติอาเซียนร่วมกันเสนอตัวในการเป็นเจ้าร่วมภาพฟุตบอลโลก
ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ ปี 2011 ที่ตอนนั้นมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยในครั้งนั้นได้มีการรับรองให้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในนามของ “กลุ่มอาเซียน” ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติสมาชิกอาเซียนได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จะร่วมกันเสนอชื่อสำหรับการแข่งฟุตบอลโลกในปี 2030 ก่อนที่ต่อมาในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 กลุ่มชาติสมาชิกยืนยันที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ แต่มีการขยับปีไปเป็นปี 2034 จนมาล่าสุดรัฐบาลใหม่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อสำหรับโปรเจกต์การเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลกของชาติอาเซียน
แม้ปี 2034 จะดูอีกยาวไกล แต่สำหรับชาติอาเซียน เรื่องเวลาคือโจทย์ใหญ่ที่จะต้องมีการเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงเรื่องของการเดินทางและที่พักสำหรับบุคลากร เพื่อให้ทันกับการแข่งขัน ซึ่งถ้าเราไปดูหลักเกณฑ์ของ FIFA สำหรับเจ้าภาพฟุตบอลโลกก็จะพบว่ามีหลายข้อที่เป็นเราและชาติอาเซียนจะต้องรีบปรับปรุงให้เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างแรกเลยคือเรื่องของ “สนาม” อย่างที่เรารู้กันว่าสนามหลักของทีมชาติไทยในตอนนี้คือสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่มีความจุ 51,000 ที่นั่ง ซึ่งถ้าเราไปดูหลักเกณฑ์ของ FIFA สำหรับเจ้าภาพฟุตบอลโลกก็จะพบว่า ถ้าเป็นการแข่งขันรอบแรกสนามที่ใช้แข่งขันต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 40,000 ที่นั่ง ขยับขึ้นมาอีกในรอบรองชนะเลิศสนามที่ใช้แข่งขันต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 60,000 ที่นั่ง และสุดท้ายสนามแข่งขันสำหรับรอบชิงชนะเลิศต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง ซึ่งถ้าเราจะเป็นเจ้าภาพจริง ๆ ก็ต้องหาทางปรับปรุงสนามเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเลือกที่จะสร้างสนามใหม่เพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขของทาง FIFA
ถัดมาเลยคือ “เสถียรภาพทางการเมือง” แม้ที่ผ่านมาชาติอาเซียนจะมีปัญหาในเรื่องของการเมือง แต่ถ้าหากเราไปดู 5 ชาติอาเซียนที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเจ้าภาพ ทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ก็ล้วนแล้วแต่มีเสถียรภาพทางการเมืองอยู่พอสมควร ที่สำคัญคือมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงพอที่ตะวันตกน่าจะยอมรับได้ ซึ่งข้อนี้ก็คงจะไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรมากนักน่าจะพอหาทางออกได้อยู่
แม้ไทยและชาติอื่น ๆ จะไม่ได้เลยไปฟุตบอลโลกและส่วนใหญ่ก็มีอันดับโลกอยู่สูงกว่า 100 ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขที่เจ้าภาพจะต้องเคยเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเหมือนอย่างที่ผ่าน ๆ แต่ทว่าในปี 2022 กาตาร์ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ต้องเคยไปฟุตบอลโลกก็สามารถเป็นเจ้าภาพได้ ซึ่งหากในอนาคตก็หวังว่า FIFA มีการผ่อนปรนเงื่อนไขข้อนี้ เพื่อให้ไทยและอาเซียนรับหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ณ ตอนนี้ อาเซียนคือภูมิภาคที่เนื้อหอมที่สุดในโลกจึงทำให้ทั้งผู้คน ทั้งการลงทุนจากทั่วโลกล้วนตรงมาที่อาเซียน เชื่อว่าหากในอนาคตทุกฝ่ายร่วมมือกันสำเร็จ นี่จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยและชาติอาเซียนทุกชาติ ที่จะประกาศให้โลกรับรู้ว่าได้เวลาของอาเซียนแล้ว สุดท้ายนี้ขาดไม่ได้เลยกับผู้สนับสนุนใจดีของเรา Lockhome กลอนประตูดิจิทัลสัญชาติเกาหลี ที่พร้อมปกป้องคุณและบ้านให้ปลอดภัยหายห่วง